Posts

Cloud Computing คอมพิวเตอร์แบบอึมครึม

Cloud Computing

(ปี 2526 ? ยุคที่เพิ่งจะเริ่มมีเครื่อง IBM PC ได้ไม่นาน)

บก. เทคนิคของวารสารคอมพิวเตอร์เล่มหนึ่ง เขียนด้วยลายมือขยุกขยิกไว้ในต้นฉบับของบทบรรณาธิการทำนองนี้ ??ในอนาคต คุณอาจเรียกใช้คอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย โดยไม่ได้รับรู้เลยว่าโปรแกรมที่คุณเรียกนั้นไปทำงานอยู่บนเครื่องไหน มีเพียงผลลัพธ์เท่านั้นที่ถูกส่งกลับมาแสดงบนเครื่องตรงหน้าคุณ?? เขาเขียนต่อไปจนจบหน้า บรรยายถึงระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งยังไม่มีอยู่จริง ด้วยหวังว่าจะสร้างภาพอนาคตให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงความก้าวหน้าและโอกาสอีกมากมายที่จะตามมาในอนาคต เขานั่งเขียนต้นฉบับด้วยลายมือ เพราะยุคนั้นคอมพิวเตอร์ยังแพงเกินกว่าที่ออฟฟิศเล็กๆ จะมีให้ใช้ได้ครบคน น่าเสียดายที่วารสารฉบับนั้นไม่มีโอกาสได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ที่ บก. คาดคะเนเอาไว้ในวันที่เกิดขึ้นจริง เพราะมันจำเป็นต้องปิดตัวเองลงหลังจากนั้นไม่นาน

(ปี 2552 ? ที่เราอาจเรียกกันว่า ?ปัจจุบัน?)

บก. คนเดิมนั่งปั่นต้นฉบับ (ปั่น (กริยา) ? การเขียนด้วยความเร็วสูงกว่าปกติเพื่อให้ทันใช้งานแบบฉุกเฉิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกำหนดส่งงานใกล้จะมาถึง หรือบางทีก็เลยไปแล้วหลายวัน 😉 ให้กับวารสารอีกเล่มหนึ่ง เขาเริ่มต้นด้วยการเปิดบราวเซอร์ขึ้นมา เรียกใช้โปรแกรมGoogle Documents แล้วคีย์ข้อความลงไป ด้วยวิธีนี้ ต้นฉบับของเขาจะถูกเก็บอยู่บนเว็บ และสามารถเรียกใช้ได้จากเครื่องไหนก็ได้ในโลก ขอเพียงมีชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านที่ถูกต้อง และไม่ว่าคอมพิวเตอร์ที่เขาใช้จะรันระบบปฏิบัติการอะไร ตั้งแต่ Windows, Mac OS หรือ Linux หรือคุณสามารถทำงานได้สารพัดอย่าง โดยไม่จำเป็นต้องรู้เลยว่ากำลังใช้งานคอมพิวเตอร์เครื่องไหนอยู่ จะเป็นเครื่องตั้งโต๊ะขนาดใหญ่ เครื่องเน็ตบุ๊คตัวเล็ก (ในอนาคตคงจะรวมไปถึงโทรศัพท์มือถือ แต่วันนี้เขายังทำได้แค่เรียกดูเอกสารเท่านั้น แก้ไขยังไม่ได้) ต่างก็สามารถใช้งานได้เท่าๆกัน เขาไม่เคยมีไอเดียเลยว่าเอกสารนี้ถูกเก็บอยู่ในเครื่องที่มุมไหนของโลก หรือโปรแกรมที่ใช้คีย์ข้อมูลแบ่งหน้าที่กันอย่างไรระหว่างหน้าจอที่เขากำลังคีย์เข้าไป กับการจัดเก็บเอกสารในเครื่องเซิร์ฟเวอร์ รู้แต่ว่าจะเรียกใช้มันอย่างไรเท่านั้น และพอคลิกปุ่ม Save เอกสารทั้งหมดก็จะถูกเก็บไว้ให้เรียกใช้ได้เสมอ (ตราบใดที่เน็ตไม่ล่ม)

บก. คนเดิมนั่งปั่นต้นฉบับไปจนจบ พลางนึกไปถึงวันที่เขาเขียนบรรยายระบบคอมพิวเตอร์ที่ยังมาไม่ถึงนั้น เสียดายว่าถ้าเขารู้ว่ามันจะออกมามีหน้าตาเป็นอย่างไร ก็อาจจะไปจับไปทำเองเสียตั้งแต่ตอนนั้น ป่านนี้คงจะรวยไม่รู้เรื่อง ไม่ต้องมานั่งปั่นต้นฉบับอยู่อย่างนี้…

Read more