Posts

e-book กับจุดจบของสิ่งพิมพ์แบบที่คุณเคยรู้จัก

ที่จริงว่าจะจั่วหัวเป็นภาษาประกิตว่า “e-book and the end of publishing as you know it” แต่เขียนเป็นไทยน่าจะเข้าใจได้ง่ายกว่า หรือหากจะให้แรงหน่อยอาจเขียนเป็น “e-book ส่งเสริมหรือทำลายวงการหนังสือ” แต่เกรงว่าจะแรงไปนิด เอาแค่สะกิดต่อมรับรู้กันพองามละกันนะครับ 😉

ก่อนจะไปถึงเรื่องว่า e-book มีผลกระทบอย่างไรกับวงการหนังสือ คงต้องดูกันก่อนว่า e-book ปัจจุบันหน้าตาอย่างไร มีกี่จำพวก เพราะเดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยมองหรือนึก ถึง e-book บนคอมกันซักเท่าไหร่แล้ว พอพูดขึ้นมาปั๊บก็มักจะนึกถึงบน reading device ทั้งหลายแหล่ เช่น iPad, Kindle, smartphone ที่รวมกันทุกระบบแล้วนับหลายล้านเครื่องในเมืองไทย และบรรดาแท็บเบล็ตระบบ Android ทั้งหลายแหล่ที่จะพาเหรดกันออกมาเต็มตลาดในปีนี้ในราคาที่ถูกจนน่าตกใจ เช่น 3-4 พันบาท เป็นต้น

e-book ที่จะอ่านได้และคาดว่าจะเป็นที่นิยมบนอุปกรณ์เหล่านี้ เท่าที่เห็นอาจจะมีราวๆ สามกลุ่ม (แต่ไม่ได้จำกัดแค่นี้ เพราะยังคงมีคนคิดอะไรใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ) ดังนี้

ปก "The Innovation secret of Steve Jobs" ฉบับ e-book บน iPad ยังเป็นตัวหนังสือล้วนๆ เหมือนฉบับพิมพ์

กลุ่มแรก คือพวกที่มีตัวหนังสือและภาพนิ่งล้วนๆ อย่างที่ Amazon ขายอยู่บน Kindle store, Apple ขายอยู่ใน iBookstore ไม่ว่าจะเป็นภาพสีหรือขาวดำก็ตาม กลุ่มนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการจำลองแบบจากหนังสือเล่มที่เป็นฉบับพิมพ์จริงมาโดยตรงหน้าต่อหน้า ไม่ว่าจะเป็นหนังสือนิยาย วรรณกรรม สารคดี วิชาการ บริหารธุรกิจ ฯลฯ

โดยทั่วไปการแปลงหนังสือกลุ่มนี้เป็น e-book จะมีการเพิ่มความสามารถปรับขนาดฟอนต์ในการแสดงผลให้ใหญ่- เล็กตามหน้าจอหรืออุปกรณ์ที่ใช้ได้ แต่บางทีถ้าเป็นหนังสือที่มีภาพประกอบที่วางแบบสวยงาม ชิดซ้าย ชิดขวา หรือวางข้อความล้อมรูป การปรับฟอนต์ก็พาลทำให้หน้าที่จัดเลย์เอาท์ไว้ดีๆ รวนไปเสียจนอ่านไม่รู้เรื่องก็มี อันนี้นับเป็นข้อจำกัดอันหนึ่งในการแปลงไฟล์ที่จัดหน้าแบบหนังสือให้กลายเป็น e-book ซึ่งไม่ใช่ว่าจะแก้ไขไม่ได้ แต่ต้องจัดการกันอย่างพิถีพิถันหน่อย

กลุ่มที่สอง คือพวกที่เพิ่มมัลติมีเดีย วิดีโอ เสียงประกอบ ฯลฯ เข้าไป เช่นบางภาพแทนที่จะดูภาพนิ่งก็กลายเป็นวิดีโอแทน มีเสียงบรรยายประกอบบางช่วง มีดนตรีประกอบเพื่อสร้างบรรยากาศในการอ่าน ซึ่งเป็นไปได้ทั้งนิยาย (ที่อาจจะต้องสร้างบางฉากเป็นหนังสั้นแบบมิวสิควิดีโอหรือ mv) หรือสารคดีที่ผสมกันระหว่างคำบรรยายกับภาพและเสียง

หนังสือนำเที่ยวเชียงใหม่ (ซ้าย) VS แอพพลิเคชั่นนำเที่ยวเชียงใหม่บน iPhone (ขวา) พัฒนาโดยโปรวิชั่น หนังสือดูเพิ่มที่ www.provision.co.th (ขอโฆษณาหน่อยนะครับ สำหรับแอพคงจะเปิดให้โหลดได้เร็วๆนี้ครับ)

กลุ่มที่สาม อาจจะเรียกว่ามีพัฒนาการขึ้นไปอีกขั้น จนไม่แน่ใจว่ายังควรจะเรียกว่า e-book, application หรือ game กันแน่ คือกลุ่มที่เพิ่มเอฟเฟ็คต์และความสามารถในการโต้ตอบกับผู้อ่านเข้าไปด้วย เช่นหนังสือนิยายผจญภัยประเภทที่ให้ผู้อ่านเลือกฉากที่จะเล่น (อ่าน) เองได้ หนังสือท่องเที่ยวที่มีแผนที่และข้อมูลสถานที่ต่างๆ สัมพันธ์กับตำแหน่งปัจจุบันของผู้ใช้ เป็นต้น

จากที่เล่ามาจะเห็นว่า ทั้งหนังสือฉบับพิมพ์แบบเดิมและ e-book ในกลุ่มแรกที่เป็นพวก e-book แบบดั้งเดิมหรือ traditional น่าจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิตอลค่อนข้างมาก ด้วยความที่มันมีปริมาณข้อมูลค่อนข้างน้อยและนิ่ง ถ้าเป็นหนังสือเล่มก็อาจถูกสแกน (ความจริงเดี๋ยวนี้ไม่ต้องสแกน แค่ใช้กล้องในมือถือระดับไม่น้อยกว่า 5 ล้านพิกเซลก็ถ่ายชัดจนอ่านได้สบายแล้ว) ถึงแม้จะมีระบบป้องกันที่เรียกว่า DRM (Digital Right Management) ก็ยากจะป้องกันได้ทั่วถึงในระยะยาว (ปัญหาคล้ายกับที่อุตสาหกรรมเพลงเจอมาแล้วและเลิกใช้ DRM ไปในที่สุด แต่วงการหนังยังใช้อยู่) ยิ่งเป็นหนังสือเป็นหน้าๆ พอลงในจอ e-book ยิ่งก๊อปปี้ง่าย แค่ capture หน้าจอก็ได้แล้ว ยิ่งถ้า เนื้อหาหรือ content เป็นแบบข้อความนิ่งๆ เช่น วรรณกรรม ยิ่งมีโอกาสถูกก๊อปปี้ได้มากและไม่มีโอกาสที่จะปล่อย content ใหม่ออกมาทดแทนง่ายๆ เรียกว่าหลุดแล้วหลุดเลย ต่างกับพวกที่เป็นสาระความรู้หรือ non-fiction ที่ยังมีการอัพเดทใหม่ๆ ออกมา ทำให้ content ที่ถูกก๊อปปี้ไปด้อยค่าเพราะล้าสมัยไปตามเวลา

Read more

รวมลิงค์วิดีโอที่เกี่ยวกับ e-book

รวมลิงค์วิดีโอที่เกี่ยวกับ e-book ครับ ลองดูกันเล่นๆ

อันนี้เป็น mock up หรือหนังตัวอย่าง (แต่ยังไม่ใช่ของจริง) ของสำนักพิมพ์ Editis ทำมาให้ดูพอเป็นไอเดียว่าโลกและชีวิตจะเปลี่ยนไปยังไงบ้างถ้าเรามี E-book ใช้กันแพร่หลาย

Read more

GPS เทคโนโลยี VS ความเป็นส่วนตัวของคุณ

เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็คงรู้จักเจ้าอุปกรณ์บอกตำแหน่งด้วยสัญญาณดาวเทียม หรือจีพีเอส (GPS ? Global Positioning System) กันมากพอสมควรแล้ว (ก่อนอื่นขอย้ำว่าอย่าเอาไปปนกับ GPRS ? General Packet Radio Service นะครับ อันนั้นมันเป็นการต่อเน็ตหรือรับส่งข้อมูลผ่านมือถือ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน) ที่ผมใช้คำว่า ?บอกตำแหน่ง? ก็คือแปลจาก Positioning เพราะความจริงแล้วสัญญาณจากดาวเทียมที่อุปกรณ์จีพีเอสรับมานั้นมันเพียงแต่บอกว่าคุณอยู่ตรงไหน ละติจูดและลองจิจูดที่เท่าไหร่บนพื้นผิวโลกเท่านั้น (ความจริงสามารถบอกว่าคุณอยู่ที่ระดับสูงจากระดับน้ำทะเลเท่าไหร่ได้ด้วย) แต่ไม่ได้ช่วยนำทางอะไรเลย การที่อุปกรณ์จีพีเอสสามารถนำทาง (Navigation) ให้คุณขับรถไปไหนต่อไหน หรือแสดงแผนที่ต่างๆ ได้นั้นจะต้องมีข้อมูลอยู่ในตัวอุปกรณ์นั้นๆ เอง หรือไม่ก็สามารถดาวน์โหลดแผนที่ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ แล้วค่อยเอาตำแหน่งของคุณที่สัญญาณดาวเทียมบอกมาอย่างต่อเนื่อง (ซึ่งจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เมื่อคุณเคลื่อนที่) มาเทียบกับพิกัดบนแผนที่ จากนั้นถึงจะบอกได้ว่าคุณอยู่ที่ไหน บนถนนอะไร ใกล้สถานที่สำคัญ (ที่เรียกกันว่า Point of Interest หรือ POI) อะไรบ้าง และควรจะเดินหน้าถอยหลังหรือไปทางขวาทางซ้ายอย่างไรถึงจะไปยังจุดที่ต้องการได้ ถ้าปราศจากข้อมูลแผนที่เสียแล้ว ระบบจีพีเอสก็จะบอกได้เพียงตำแหน่งของคุณเป็นตัวเลขที่ไร้ความหมาย หรือเป็นจุดบนพื้นที่ว่างๆ ที่ไม่รู้จะเอาไปทำอะไรได้ อย่างมากก็บอกได้แค่ว่ากำลังมุ่งหน้าไปทางทิศไหน เช่น ขึ้นเหนือ หรือมุ่งตะวันออกเฉียงใต้ เท่านั้น

Read more

E-book จริงหรือที่ว่ามันคืออนาคตของการอ่าน ?

หมายเหตุ: บทความนี้จะเป็นการสรุปเนื้อหาที่ผมเตรียมไปพูดแบบ #ignite ในงาน Ignite Bangkok (www.ignitebangkok.com) ในวันที่ 3-4 มีนาคมที่จะถึงนี้ที่ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC – เอ็มโพเรียม สุขุมวิท) ห้อง Auditorium ดังนั้นจึงจะมีการอัพเดทเป็นระยะจนกว่าจะเขียนเสร็จ (ซึ่งก็คงใกล้วันงานพอดี) สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักการพูดแบบ ignite ก็เข้าไปดูที่เว็บดังกล่าวได้ สรุปสั้นๆก็คือให้พูดเรื่องอะไรก็ได้ แต่มีเวลาแค่ 5 นาทีและ 20 สไลด์ โดยสไลด์จะเปลี่ยนเองทุกๆ 15 วินาที? เนื้อหาจึงต้องกระชับ ไม่เยิ่นเย้อ ตามสโลแกนที่ว่า “enlighten us, but make it quick”

สำหรับวิดีโอที่ไปพูด ดูได้ที่นี่ครับ (5 นาที)

[vodpod id=Video.3219271&w=480&h=270&fv=]

Amazon's Kindle DX

Amazon's Kindle DX

เนื้อหาโดยย่อ: ถึงตอนนี้ใครๆก็เริ่มตื่นเต้นกับเครื่องอ่าน e-book ในสารพัดรูปแบบที่กำลังจะออกมาให้ใช้กัน ไม่ว่าจะเป็น iPad, Kindle, Nook, G-Tablet หรืออื่นๆ แต่อนาคตของ e-book จะเป็นอย่างไร และมันจะทำให้เราเลิกอ่านหนังสือบนกระดาษกันได้จริงๆหรือ ประเด็นสำคัญอยู่ตรงไหนกันแน่ ในฐานะของคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างหนังสือกับเทคโนโลยี คือเป็นทั้งคนทำหนังสือด้าน IT และอยู่ในแวดวงหนังสือมานับสิบปี ขอรวบรวมข้อมูลและข้อคิดเห็นล่าสุดจากหลายมุมมองมาเล่าสู่กันฟัง

16 เรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับ E-book

1. E-book เริ่มมีมานานแล้วบน PC/Mac ?แต่เพิ่งจะเริ่มได้รับความสนใจมากเมื่อเร็วๆนี้

ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะแต่เดิม E-book เป็นแบบที่ต่างคนต่างทำ มีหลากรูปแบบ หลายมาตรฐาน บางรายทำแบบ proprietary กันมานาน แต่ละคนมี tool ของตัวเอง บางคนก็ใช้ไฟล์แบบ PDF เพื่อให้เปิดได้ทุกที่ บางคนก็ทำโดยใช้โปรแกรมอย่าง Adobe Flash เพื่อเน้น effect ทางด้าน multimedia ผสมกับวิดีโอ แต่ที่เหมือนกันคือส่วนมากจะทำให้อ่านบนเครื่องคอมพิวเตอร์ จนกระทั่งเมื่อเร็วๆนี้ที่มือถือแบบ Smartphone ซึ่งมีจอขนาดใหญ่ได้รับความนิยมแพร่หลาย จึงมีคนทำทั้งโปรแกรมอ่านและตัวหนังสือ E-book เองให้อ่านได้บนมือถือเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น เครื่องอ่าน E-book ของ Amazon ที่เรียกว่า Kindle มีโปรแกรมที่ทำให้อ่านไฟล์แบบเดียวกันได้บน Smartphone หลายๆ ค่าย

2. ในปีนี้ (2010) จะมีผู้ผลิตเครื่อง E-book reader ออกมามากมายในรูปแบบของ Tablet computer

ทั้งนี้เพราะเทคโนโลยีต่างๆ เริ่มจะเข้าที่และดีพอที่จะทำเครื่องออกมา และแต่ละรายก็พยายามหาจุดขายที่เป็นได้มากกว่าเครื่องอ่าน E-book เฉยๆ กลายเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนตัวในรูปแบบใหม่ ที่ฮือฮาที่สุดก็คงไม่พ้น Apple ที่เปิดตัว iPad ก่อนใคร (อ่านเรื่อง ?iPad: ฤาจะเป็นแพลทฟอร์มนี้ที่เปลี่ยนโลก? ได้ใน D+Plus ฉบับที่แล้ว) และตามมาติดๆด้วย G-Tablet (ชื่อยังไม่เป็นทางการ) ของ Google ที่น่าจะใช้ระบบปฏิบัติการกึ่งบราวเซอร์อย่าง Chrome (ของกูเกิ้ลเอง ซึ่งมีหน้าตาแบบเดียวกับบราวเซอร์ Chrome ที่กูเกิ้ลแจกฟรีให้ใช้กันอยู่) ออกมาด้วย ทั้งหมดนี้ทำเอาค่ายที่ขายหนังสือและ E-book reader เป็นหลักอยู่อย่าง Amazon ที่ขาย Kindle ต้องปรับตัวขนานใหญ่ หรือแม้แต่ Barnes and Noble เชนร้านหนังสือใหญ่ของอเมริกา ต้องเปิดตัวเครื่องอ่าน E-book ของตนในชื่อ Nook ออกมาสู้ ส่วนอีกทางหนึ่งบรรดาผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ทั้งหลายเช่น Acer, HP, Dell ก็ต้องออก Tablet computer โดยใช้ระบบปฏิบัติการทชั้หลากหลาย มีทั้ง Chrome ของ Google หรือ Windows 7 ของไมโครซอฟท์มาเอี่ยวด้วย ทั้งหมดนี้มากพอจะทำให้ตลาดอุปกรณ์สายพันธ์ใหม่นี้เดือดได้ทีเดียว

Read more