Posts

ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับ e-book (3)

3. E-book จะมีความสามารถในการทำ interactive กับผู้อ่านได้มากขึ้น

ข้อนี้ก็จริงแค่บางส่วน เพราะการทำ interactive ต้องอาศัยความสามารถในการพัฒนาเนื้อหาไปพร้อมๆกับการใช้ความสามารถของซอฟต์แวร์สร้าง e-book แต่สำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่ทำหนังสือเล่ม อาจคุ้นเคยกับการสร้างภาพและตัวหนังสือนิ่งๆ เป็นหลัก การทำ interactive ให้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ การถ่ายวิดีโอ ใส่เสียงประกอบ ฯลฯ อาจกลายเป็นหน้าที่ของผู้เขียนที่จะต้องคิดเตรียมมาตั้งแต่ต้นทาง แล้วใช้เครื่องมือง่ายๆ ทำเองเลย เช่น iBooks Author ในแพลทฟอร์มระบบ iOS ของ Apple มากกว่า

25550706-102249.jpg
[e-book ที่สร้างจาก โปรแกรม iBooks Authors บนเครื่อง Mac]

4. E-book จะมีหน้าตาสวย และลูกเล่นแบบ e-magazine

อันนี้ในอนาคตน่าจะได้เหมือนๆกันหมดครับ ส่วนในปัจจุบันก็แล้วแต่ฟอร์แมทของร้านออนไลน์แต่ละแห่ง ถ้าเป็นร้านออนไลน์ของไทยส่วนใหญ่จะจัดหน้าสวยเหมือนหนังสือ คือหน้าต่อหน้า เพราะร้านออนไลน์บ้านนิยมแปลงไฟล์ที่สำนักพิมพ์ส่งมาให้ในรูปแบบ PDF มาเป็น e-book โดยตรงหน้าต่อหน้า ก็เลยได้สวยเท่าหนังสือเล่มฉบับพิมพ์ แต่ไม่มีอะไรมากกว่านั้น ซึ่งการทำแบบนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือหน้าต่อหน้าอ้างอิงได้ตรงกับฉบับพิมพ์ การจัดรูปแบบของข้อความในแต่ละหน้าก็อยู่ครบ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งของรูปและข้อความ แต่ข้อเสียคือไม่สามารถปรับขนาดฟอนต์ให้ตัวใหญ่หรือเล็ก แล้วให้มีการจัดข้อความใหม่ตามขนาดอักษรที่เลือก (reflow text) ได้ ต้องใช้การซูมเข้าออกทั้งหน้าเท้านั้น ต่างกับฟอร์แมทของต่างประเทศอย่าง Amazon ที่เดิมใช้แบบข้อความลื่นไหลไปกับภาพ ทำให้ปรับขนาดอักษรให้อ่านสะดวกตามความชอบแต่ละคนได้ ซึ่งเหมาะกัับหนังสือที่ข้อความเยอะ ไม่เน้นภาพ และไม่ fix ตำแหน่งภาพว่าต้องอยู่ตรงกับข้อความ แต่ถ้าเป็นหนังสือที่มีภาพเป็นหลักจะดูยากมากและไม่น่าอ่านเลย

25550706-102454.jpg
[e-book แบบ PDF ที่นิยมใช้กันในร้านออนไลน์ของไทย]

25550706-102505.jpg
[e-book แบบที่ปรับขนาดฟอนต์และ reflow text ได้ อย่างของ Amazon Kindle ซึ่งตำแหน่งและจำนวนหน้าจะไม่คงที่ และที่สำคัญคือไม่สวยเอาซะเลย]

อันนี้คงต้องรอมาตรฐานใหม่ๆ ที่เพิ่งประกาศใช้ เช่น epub 3 ซึ่งจะเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ แต่ก็ต้องอาศัยเครื่องมือจัดหน้าเช่น Adobe InDesign เวอร์ชั่นใหม่ๆ หรือ Apple iBooks Author แถมฟอร์แมทที่เอาไปใช้กันจริงๆ ก็เป็น อะไรที่ based-on แต่ไม่ใช่ fully compatible กับ epub 3 เสียอีก ไม่ว่าจะเป็นฟอร์แมทของ iBooks Author หรือ Amazon Kindle ตัวใหม่ก็ตาม แปลว่าเวลาจัดหน้าแล้วอาจมีการขยับหน้าตำแหน่งไปได้ ขึ้นกับความ compatible ของเครื่องมือด้านซอฟต์แวร์ที่ใช้ แถมยังต้องแปลงกันใหม่ ตรวจสอบและปรับแก้ต่างหากสำหรับแต่ละฟอร์แมทอีก น่าปวดหัวมิใช่น้อยเลย ;(

5. DRM สามารถป้องกันการก๊อปปี้ e-book ได้เกือบ 100%

อันนี้ใครที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์มาบ้างน่าจะพอบอกได้ด้วย sense แล้วว่ามันไม่จริง ป้องกันได้ก็แกะได้ เพียงแต่ความสะดวกยากง่ายแค่ไหนเท่านั้น คือผู้ใช้ทั่วๆไปอาจไม่ทำ แต่ถ้าเป็นนัก crack มือดีๆก็คงทำได้ไม่ยาก แต่ที่สำคัญผมว่าต้องเข้าใจก่อนว่าทุกอุปกรณ์สามารถ capture screen ได้ แถมความละเอียดหน้าจอก็สูงขึ้นทุกที ดังนั้นถ้า capture หน้าจอหนังสือไปทีละหน้าโดยการกดเพียงไม่กี่ปุ่ม จะเร็วและง่ายกว่าการเอาหนังสือเล่มไปถ่ายเอกสารเสียอีก อันนี้เป็นความสามารถในตัวระบบปฏิบัติการทั้งค่าย Android และ iOS จึงป้องกันได้ยาก ดังนั้นการป้องกันด้วย DRM จึงช่วยได้แค่บางส่วนเท่านั้น ยิ่งถ้าหนังสือ e-book ของคุณเป็นแบบ PDF ที่พูดถึงในหัวข้อก่อน คือมีรูปแบบหน้าต่อหน้าเหมือนฉบับพิมพ์ ก็ยิ่งสะดวกในการก๊อปปี้หน้าต่อหน้าไปใหญ่ แต่ถ้าเป็นพวก e-magazine ที่มีลูกเล่นหมุนแนวนอนอย่างแนวตั้งอีกอย่าง หรือเลื่อนอ่านขึ้นลงเฉพาะแต่ละบทความ คือไม่ได้เรียงหน้าต่อหน้าแบบฉบับพิมพ์ แถมมี interactive หรือมัลติมีเดียฝังมาด้วย อันนี้จะก๊อปปี้หน้าจอลำบากกว่า

สรุปคือการป้องกันในโลกนี้ไม่มีอะไร 100% ทำอย่างไรให้ผู้ใช้อ่านสะดวก และยอมจ่ายเงินซื้อน่าจะเป็นวิธีตอบโจทย์ที่ดีกว่า เรื่องนี้คงไม่มีทางออกที่ตายตัว เหมือนอย่างเพลงที่ขายกันบนเน็ตตอนนี้ก็เลิกระบบ DRM หมดแล้ว ในขณะที่ภาพยนตร์ที่ขายบนเน็ตยังใช้ DRM กันอยู่ คำถามคือแล้วหนังสือจะใช้แบบไหน แต่ละร้านออนไลน์ แต่ละสำนักพิมพ์คงต้องไปหาคำตอบเองครับ

e-book กับจุดจบของสิ่งพิมพ์แบบที่คุณเคยรู้จัก

ที่จริงว่าจะจั่วหัวเป็นภาษาประกิตว่า “e-book and the end of publishing as you know it” แต่เขียนเป็นไทยน่าจะเข้าใจได้ง่ายกว่า หรือหากจะให้แรงหน่อยอาจเขียนเป็น “e-book ส่งเสริมหรือทำลายวงการหนังสือ” แต่เกรงว่าจะแรงไปนิด เอาแค่สะกิดต่อมรับรู้กันพองามละกันนะครับ 😉

ก่อนจะไปถึงเรื่องว่า e-book มีผลกระทบอย่างไรกับวงการหนังสือ คงต้องดูกันก่อนว่า e-book ปัจจุบันหน้าตาอย่างไร มีกี่จำพวก เพราะเดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยมองหรือนึก ถึง e-book บนคอมกันซักเท่าไหร่แล้ว พอพูดขึ้นมาปั๊บก็มักจะนึกถึงบน reading device ทั้งหลายแหล่ เช่น iPad, Kindle, smartphone ที่รวมกันทุกระบบแล้วนับหลายล้านเครื่องในเมืองไทย และบรรดาแท็บเบล็ตระบบ Android ทั้งหลายแหล่ที่จะพาเหรดกันออกมาเต็มตลาดในปีนี้ในราคาที่ถูกจนน่าตกใจ เช่น 3-4 พันบาท เป็นต้น

e-book ที่จะอ่านได้และคาดว่าจะเป็นที่นิยมบนอุปกรณ์เหล่านี้ เท่าที่เห็นอาจจะมีราวๆ สามกลุ่ม (แต่ไม่ได้จำกัดแค่นี้ เพราะยังคงมีคนคิดอะไรใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ) ดังนี้

ปก "The Innovation secret of Steve Jobs" ฉบับ e-book บน iPad ยังเป็นตัวหนังสือล้วนๆ เหมือนฉบับพิมพ์

กลุ่มแรก คือพวกที่มีตัวหนังสือและภาพนิ่งล้วนๆ อย่างที่ Amazon ขายอยู่บน Kindle store, Apple ขายอยู่ใน iBookstore ไม่ว่าจะเป็นภาพสีหรือขาวดำก็ตาม กลุ่มนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการจำลองแบบจากหนังสือเล่มที่เป็นฉบับพิมพ์จริงมาโดยตรงหน้าต่อหน้า ไม่ว่าจะเป็นหนังสือนิยาย วรรณกรรม สารคดี วิชาการ บริหารธุรกิจ ฯลฯ

โดยทั่วไปการแปลงหนังสือกลุ่มนี้เป็น e-book จะมีการเพิ่มความสามารถปรับขนาดฟอนต์ในการแสดงผลให้ใหญ่- เล็กตามหน้าจอหรืออุปกรณ์ที่ใช้ได้ แต่บางทีถ้าเป็นหนังสือที่มีภาพประกอบที่วางแบบสวยงาม ชิดซ้าย ชิดขวา หรือวางข้อความล้อมรูป การปรับฟอนต์ก็พาลทำให้หน้าที่จัดเลย์เอาท์ไว้ดีๆ รวนไปเสียจนอ่านไม่รู้เรื่องก็มี อันนี้นับเป็นข้อจำกัดอันหนึ่งในการแปลงไฟล์ที่จัดหน้าแบบหนังสือให้กลายเป็น e-book ซึ่งไม่ใช่ว่าจะแก้ไขไม่ได้ แต่ต้องจัดการกันอย่างพิถีพิถันหน่อย

กลุ่มที่สอง คือพวกที่เพิ่มมัลติมีเดีย วิดีโอ เสียงประกอบ ฯลฯ เข้าไป เช่นบางภาพแทนที่จะดูภาพนิ่งก็กลายเป็นวิดีโอแทน มีเสียงบรรยายประกอบบางช่วง มีดนตรีประกอบเพื่อสร้างบรรยากาศในการอ่าน ซึ่งเป็นไปได้ทั้งนิยาย (ที่อาจจะต้องสร้างบางฉากเป็นหนังสั้นแบบมิวสิควิดีโอหรือ mv) หรือสารคดีที่ผสมกันระหว่างคำบรรยายกับภาพและเสียง

หนังสือนำเที่ยวเชียงใหม่ (ซ้าย) VS แอพพลิเคชั่นนำเที่ยวเชียงใหม่บน iPhone (ขวา) พัฒนาโดยโปรวิชั่น หนังสือดูเพิ่มที่ www.provision.co.th (ขอโฆษณาหน่อยนะครับ สำหรับแอพคงจะเปิดให้โหลดได้เร็วๆนี้ครับ)

กลุ่มที่สาม อาจจะเรียกว่ามีพัฒนาการขึ้นไปอีกขั้น จนไม่แน่ใจว่ายังควรจะเรียกว่า e-book, application หรือ game กันแน่ คือกลุ่มที่เพิ่มเอฟเฟ็คต์และความสามารถในการโต้ตอบกับผู้อ่านเข้าไปด้วย เช่นหนังสือนิยายผจญภัยประเภทที่ให้ผู้อ่านเลือกฉากที่จะเล่น (อ่าน) เองได้ หนังสือท่องเที่ยวที่มีแผนที่และข้อมูลสถานที่ต่างๆ สัมพันธ์กับตำแหน่งปัจจุบันของผู้ใช้ เป็นต้น

จากที่เล่ามาจะเห็นว่า ทั้งหนังสือฉบับพิมพ์แบบเดิมและ e-book ในกลุ่มแรกที่เป็นพวก e-book แบบดั้งเดิมหรือ traditional น่าจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิตอลค่อนข้างมาก ด้วยความที่มันมีปริมาณข้อมูลค่อนข้างน้อยและนิ่ง ถ้าเป็นหนังสือเล่มก็อาจถูกสแกน (ความจริงเดี๋ยวนี้ไม่ต้องสแกน แค่ใช้กล้องในมือถือระดับไม่น้อยกว่า 5 ล้านพิกเซลก็ถ่ายชัดจนอ่านได้สบายแล้ว) ถึงแม้จะมีระบบป้องกันที่เรียกว่า DRM (Digital Right Management) ก็ยากจะป้องกันได้ทั่วถึงในระยะยาว (ปัญหาคล้ายกับที่อุตสาหกรรมเพลงเจอมาแล้วและเลิกใช้ DRM ไปในที่สุด แต่วงการหนังยังใช้อยู่) ยิ่งเป็นหนังสือเป็นหน้าๆ พอลงในจอ e-book ยิ่งก๊อปปี้ง่าย แค่ capture หน้าจอก็ได้แล้ว ยิ่งถ้า เนื้อหาหรือ content เป็นแบบข้อความนิ่งๆ เช่น วรรณกรรม ยิ่งมีโอกาสถูกก๊อปปี้ได้มากและไม่มีโอกาสที่จะปล่อย content ใหม่ออกมาทดแทนง่ายๆ เรียกว่าหลุดแล้วหลุดเลย ต่างกับพวกที่เป็นสาระความรู้หรือ non-fiction ที่ยังมีการอัพเดทใหม่ๆ ออกมา ทำให้ content ที่ถูกก๊อปปี้ไปด้อยค่าเพราะล้าสมัยไปตามเวลา

Read more

แกะกล่องลองใช้ iPad (ตอนที่ 1)

There is no Thai keyboard support on iPad! So I have to type this text in English ;-(

บรรทัดบนนั่นแก้ไขจาก WordPress for iPad ครับ ตอนนี้เป็น iPhone OS 3.2 ยังไม่มีคีย์บอร์ดไทย ถึงจะต่อกับคีย์บอร์ด Bluetooth ที่สกรีนภาษาไทยของเครื่อง iMac ได้ ก็ยังคีย์ภาษาไทยไม่ได้อยู่ดี

ข้างบนนั่นรูปจริงนะครับ ไม่ได้รีทัช

ลองมาดูวิดีโอแกะกล่อง iPad กันเลยครับ

ในกล่องเรียบง่ายมาก

มีแต่เอกสารบางๆ แนะนำว่าปุ่มไหนใช้ทำอะไร กับใบ Product information ตามข้อกำหนดของทางการ แล้วก็เป็นสาย sync กับอะแดปแเตอร์

ส่วนที่ว่าใช้อ่าน e-book แล้วเป็นยังไง เดี๋ยวมาเล่าต่อครับ แต่ที่แน่ๆ ไม่มีโปรแกรมอ่าน e-book ที่ buit-in มาให้จากโรงงานเลยเหมือนกับพวก e-mail, iPod, Photos หรือบราวเซอร์ (Safari) ใครอยากจะใช้อ่าน e-book ก็ต้องไปดาวน์โหลดแอพ iBooks จาก iTunes App Store มาก่อน (แอพฟรีครับ แต่ต้องสร้าง iTunes account และไปดาวน์โหลดมาเอง) นอกนั้นก็มีพวก magazine on-line เช่น Zinio (รายเดียวรวมแมกกาซีนหลายๆ ฉบับมาขาย) หรือแยกกันมาเองเช่น Men’s Health และหนังสือพิมพ์ต่างๆ เช่น USA Today หรือบางทีก็เป็นกึงหนังสือพิมพ์กึ่งวิดีโอ อย่างแอพของ BBC

[อ่านต่อตอนที่ 2 นะครับ]

แกะกล่องลองใช้ iPad (ตอนที่ 2)

ผมนั่งเล่น iPad อยู่หลายวันก่อนจะลงมือเขียนบทความตอนนี้ ความรู้สึกก่อนจะได้มา ก็?ตื่นเต้น อยากลอง อยากรู้ พอลองได้จับดูจริงๆ.. โอ้ หนักเอาเรื่องเหมือนกันแฮะ เลยลองเอาไปชั่งดู หนักราวๆ 700 กรัม (7 ขีด) หนักกว่า Kindle DX ของ Amazon ที่จอ 9.7 นิ้วเท่ากันแต่เป็นขาวดำเกือบสองขีด ทีนี้ลองนึกถึงถ้าใช้เจ้า iPad นี่เป็นเครื่องอ่าน e-book หรือ e-magazine เทียบกับการยกแมกกาซีนสี่สีที่พิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตมันอย่างดีมาถือล่ะ อ้าว! ชั่งดูแล้วหนักพอๆกันแฮะ แมกกาซีนหนาๆ เล่มนึงก็หนักราว 6-8 ขีดแล้ว แต่ที่รู้สึกว่า iPad ค่อนข้างหนักอาจเพราะขนาดมันเล็กกว่าแมกกาซีนพอสมควร ตาดูแล้วเลยออกแรงยกน้อยเพราะคาดว่ามันจะเบา พอหนักเท่าๆกันก็เลยผิดคาด แต่ถ้าลองนึกถึงการแบกเจ้านี่ไปไหนๆ เทียบกับการแบกแมกกาซีนเป็นตั้งๆ หลายเล่ม เวิร์กเลยแฮะ แบกเจ้า iPad ไปตัวเดียวอยู่

ตอนแรกที่แกะกล่อง iPad ดู อ้าว ไม่มีอะไรให้มาเลยแฮะ นอกจากตัว iPad เอง สายชาร์จ และอะแดปเตอร์ หูฟังก็ไม่ยักกะให้มา (หรือเห็นว่าใช้เป็นโทรศัพท์ไม่ได้เลยตัดไป) นอกนั้นก็เป็นคู่มือใช้งานเบื้องต้น 2-3 หน้า และเอกสารตามข้อกำหนดของทางการสหรัฐเรื่องอุปกรณ์ที่มีการส่งสัญญาณ (Wi-Fi) ไม่กี่หน้า ตามรูป

แกะกล่องแล้วลองเล่นดูหลายวัน สรุปได้เป็นข้อๆ ตามนี้เลยครับ

1. ความรู้สึก VS Tech Spec

ตามสเป็คบอกว่า iPad ใช้ซีพียูความเร็ว 1 GigaHertz (1,000 MHz) หน่อวยความจำ RAM ไม่บอก ส่วนหน่อยเก็บข้อมูลแบบ Flash เริ่มที่ 16 GB รันระบบปฏิบัติการหรือ OS เดียวกับ iPhone แต่เป็นเวอร์ชั่น 3.2 (ล่าสุดขณะนี้ iPhone ใช้ 3.1.3 ส่วน 4.0 เปิดตัวแล้วแต่ยังไม่มีใช้จริงทั้ง iPad และ iPhone) ซึ่งเทียบแล้วน่าจะช้ากว่าโน้ตบุ๊คมาก ก็เลยทำใจไว้ว่าไม่คาดหวังอะไรมาก น่าจะแค่พอใช้ได้ แต่พอลองใช้ดู ปรากฏว่าลื่นไหลแฮะ ตอบสนองเร็วดี เร็วกว่า iPhone 3GS ที่ใช้ซีพียูรุ่นใกล้เคียงแต่ความเร็วต่ำกว่าคือ 600 MHz ค่อนข้างชัด ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนหน้าจอ เปิดเว็บ ดูวิดีโอ ฟังเพลง นานๆ ถึงจะมีแฮงก์จนต้องปิด (shutdown) แล้วเปิดใหม่บ้างๆ แต่ก็ไม่บ่อยนัก โดยรวมถือว่าผ่านสบาย จะมีสะดุดก็อีตอนเปิดเว็บหน้าที่เคยเปิดไว้แล้วนี่แหละ ที่มันไม่ได้เปิดคาไว้จริงๆ เป็นแท็บอื่นอย่างในคอมฯ พอเรียกหน้าที่ย่อเป็นรูปไว้ทีก็โหลดใหม่ที ทำให้สะดุดตอนรอเน็ตนิดหน่อย

2. จอภาพและขนาดเครื่อง

ที่ต้องพูดรวมกันทั้งขนาดจอภาพและขนาดเครื่องก็เพราะมันไม่มีชิ้นส่วนอื่นๆอีกแล้วนอกจากตัวเครื่องนั่นเอง! โดยรวมแล้วจอขนาด 9.7 นิ้ว (14.9 x 19.7 ซม. โดยประมาณ) ซึ่งใกล้เคียงกับหน้าหนังสือขนาด A5 (คือกระดาษ A4 พับครึ่ง) หรือที่บ้านเราเรียกว่า 16 หน้ายกพิเศษ คือขนาดพ็อคเก็ตบุ๊คทั่วไปนั่นเอง ใช้อ่านหนังสือเล่มเท่านั้นในขนาด 100% ได้สบาย แต่ถ้าอ่านแมกกาซีนที่มักมีขนาดใหญ่กว่านั้นก็ต้องย่อภาพลงมา แล้วเวลาดูอะไรเล็กๆก็ต้องใช้สองนิ้วลากซูมเอาหน่อย (ซึ่งเป็นวิธีซูมที่เวิร์กสุดๆ แล้ว) หรือไม่งั้นอีกทีก็ต้องจับตะแคงอ่านให้หน้าแมกกาซีนกว้างพอดีกับด้านยาวของหน้าจอ สังเกตอีกอย่างว่าสัดส่วนกว้างต่อสูงหรือ aspect ratio ของจอ iPad คือ 1:1.32 หรือประมาณ 3 ต่อ 4 พอดีกับสัดส่วนเซ็นเซอร์รับภาพของกล้องดิจิตอลในมาตรฐาน Four-Third อย่างค่าย Olympus หรือ Panasonic เลยนะนั่น

ด้านสีสันและคุณภาพของภาพก็ไม่ตกมาตรฐานจอค่าย Apple อยู่แล้ว มีติหน่อยตรงที่ความละเอียดของหน้าจอมีแค่ 1024×768 จุด หรือคิดเป็นความละเอียดภาพประมาณ 132 จุดต่อนิ้ว (dot per inch หรือ dpi) ซึ่งพอๆกับจอทั่วไป รวมถึง iPhone แต่ละเอียดน้อยกว่าจะของ BlackBerry Bold 9700 ที่ขึ้นไปถึงเกือบ 240 จุดต่อนิ้ว แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าจอ BB นั่นมีขนาดเล็กกว่ามาก คือ 480×360 จุดและขนาดเพียง 2.44 นิ้ว ในขณะที่ iPad เป็น 9.7 นิ้ว หากจะทำให้จอ iPad มีค่า dpi สูงขนาดนั้นก็จะได้จำนวนจุดถึง 1400x 1800 ทีเดียว ซึ่งคงจะทำให้ราคา iPad แพงไปกว่านี้ และที่จะตามมาก็อาจทำให้เปลืองแบตเตอรี่มากขึ้นไปอีกทั้งจอและซีพยูในการประมวลผลข้อมูลภาพที่มีจำนวนจุดมากขึ้น

สำหรับขนาดของเครื่อง iPad โดยรวมแล้ว ผมตินิดนึงตรงขอบส่วนที่อยู่รอบจอนั้นออกจะหนาไปหน่อย ถ้าทำให้บางกว่านี้ได้คงจะดี เพราะตัวเครื่องมีขนาดประมาณ 19×23.4 ซม. คือเลยจอออกไปอีกด้านละประมาณเกือบ 2 ซม. (แต่ก็เข้าใจ Apple ว่าคงต้องเตรียมที่เผื่อไว้สำหรับการพยายามยัดอะไรต่อมิอะไรลงไปอีกพอสมควรในอนาคต) อย่างไรก็ตามสำหรับจอขนาด 9.7 นิ้วนี้ก็ใกล้เคียงกับ Kindle DX ของ Amazon (แต่สัดส่วน กว้างxยาว ต่างกันเล็กน้อย) ซึ่งอาจทำให้ดูใหญ่ พกพาไม่คล่องตัวเท่าที่ควร แต่ก็ไม่เล็กเกินกว่าที่จะอ่านแบบกวาดสายตาดูเรื่องคร่าวๆ อย่างที่คนทั่วไปทำกันในการอ่านหนังสือพิมพ์หรือแมกกาซีน แต่วิธีอ่านแบบนี้ไปลองทำบนจอเล็กๆอย่าง iPhone หรือสมาร์ทโฟนทั้งหลายแล้วไม่เวิร์กเลยเพราะไม่มีที่ให้กวาด ต้อง scroll ก่อนทุกที ดังนั้นจอขนาดนี้ก็น่าเหมาะสำหรับการอ่านหนังสือทั่วๆไประดับหนึ่ง นอกจากนั้นคีย์บอร์ดแบบ soft key ที่แสดงบนจอ เมื่อวางนอนก็มีขนาดพอเหมาะมือ ถ้าเล็กกว่านี้เช่นเวลาวางเครื่อง iPad ในแนวตั้งแล้วยังรู้สึกว่าเบียดกันเกินไปหน่อย I

3. แบตเตอรี่ VS น้ำหนักตัว

พูดถึงน้ำหนักแล้วเกิดอยากรู้ขึ้นมาว่าทำไมถึงไม่เบาอย่างที่คิด ก็เลยไปค้นเว็บดู ข้อมูลจากนักรื้อเครื่องหลายบริษัท เช่น ifixit (ifixit.com) บอกว่า เฉพาะแบตเตอรี่สองก้อนต่อกันก็หนักเข้าไปตั้ง 148 แกรม ส่วนจอหนัก 153 แกรม แต่ที่หนักที่สุดคือกระจกหน้าจอซึ่งหนักถึง 193 แกรม สามอย่างนี้รวมกันก็หนักราว 70% ของทั้งตัวแล้ว แต่แบตเตอรี่นี้เองที่ทำให้ iPad ใช้งานต่อเนื่องได้มากกว่า 10 ชั่วโมงโดยไม่ต้องชาร์จ (ลองใช้จริงแล้วได้นานกว่านั้นอีก เรียกว่าใช้ได้ทั้งวันสบายๆ ไม่ต้องห่วงเรื่องหาปลั๊กเลย) ซึ่งนับว่านานมากถ้าเทียบกับ netbook หรือโน้ตบุ๊คทั่วไป แต่ยังไม่นานเท่าพวก e-reader จอขาวดำเช่น Kindle หรืออื่นๆ ที่ใช้เทคโนโลยีของ e-ink หรือ e-paper ซึ่งแสดงภาพได้นิ่งสนิทกว่า และเวลาไม่เปลี่ยนหน้าจะไม่กินไฟเลย (แต่ก็ไม่สามารถแสดงภาพสีหรือวิดีโอได้ เพราะตอบสนองการเปลี่ยนภาพใหม่ช้ามาก เช่น 2 วินาที ในขณะที่วิดีโอต้องการอย่างน้อย 25 ภาพต่อวินาทีหรือภาพละ .04 วินาทีเท่านั้น คือช้าไป 50 เท่า)

ใครที่อยากได้รุ่นที่จอเล็กลงมาและน้ำหนักเบากว่า ถ้าไม่รอปีหน้า (2011) ที่มีข่าวลือว่า Apple จะออก iPad ตัวเล็ก ก็ต้องย้ายค่ายกันไปเลย เช่นหันไปใช้ Streak ของ Dell (ชื่อเดิมคือ Mini 5) ที่รันระบบปฏิบัติการ Android ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ามาก (จอ 5 นิ้ว) ซึ่งน่าจะใกล้เคียงกับ Vaio P Series ของ Sony ข้อดีคือพกพาสะดวก ข้อเสียคือจอเล็ก แถมคีย์บอร์ดแบบ on-screen ก็ต้องเล็กตามไปด้วยจนอาจใช้งานไม่ถนัดได้ ก็ต้องแลกกัน ส่วนพวก Windows 7 Tablet อย่าง HP Slate ที่จะออกปลายปีนั้นคงจะใหญ่น้องๆ iPad มากกว่า

4. GPS และเข็มทิศ

ข้อมูลจาก ifixit.com รื้อเครื่องดูแล้วไม่พบอุปกรณ์ GPS แต่ทดลองใช้งานจริงแล้ว Google Map สามารถหาที่อยู่ของเครื่องนี้ได้ใกล้เคียงทั้งๆที่ไม่มี GPRS หรือ Edge ให้อ้างอิงตำแหน่งเสาสัญญาณของระบบโทรศัพท์มือถือ ดังรูป ทำให้ไม่เข้าใจว่าเป็นไปได้อย่างไร จากการหาข้อมูลเพิ่มเติมมีรายงานว่า iPad รุ่น Wifi ไม่มี GPS แต่ใช้วิธีที่เรียกว่า Wi-Fi Positioning System (WPS) ในการอ้างอิงกับตำแหน่งของ Wi-Fi hot spot ทั่วโลกที่มีผู้รวบรวมข้อมูลไว้ จริงเท็จประการใดขอทดสอบอีกทีครับ

ส่วนระบบ Accelerometer ที่ตรวจจับความเคลื่อนไหว และเข็มทิศนั้นน่าจะมีอยู่ เพราะมี App ชื่อ MagnetMeter ที่สาธิตเรื่องนี้อย่างชัดเจนเวลาขยับหรือหมุนไปมาแล้วจะมีลูกศรชี้ไปทางด้านบนเสมอจากการทำงานของ Accelerometer และชี้ไปทิศเหนือเสมอจากการทำงานของเข็มทิศ (compass) ดังรูป

นอกจากนี้ยังมีผู้พบว่ามีตัวเลือกเปิดปิด compass ใน Maps (ดังรูปแรก อ้างอิงจาก http://www.ipadimo.com/forums/209-ipad-general-chat/275311-compass-ipad.html)

แต่บนเครื่องที่ผมได้มาลองดูแล้วไม่มี ตามรูปที่สอง

ส่วนใน iPad รุ่น 3G ตามสเป็คว่าจะมีระบบ GPS มาให้ด้วยอย่างแน่นอน ซึ่งทำงานทั้งรับสัญญาณดาวเทียมและใช้ตำแหน่งเสาของระบบโทรศัพท์ช่วยเช่นเดียวกับใน iPhone

5. การเชื่อมต่อ Wi-Fi, 3G และอื่นๆ

อย่างที่บอกแต่แรกแล้วว่ารุ่นที่ได้ตัวอย่างมาไม่มีทั้ง 3G/EDGE/GPRS เล่นได้แต่ Wi-Fi เท่าที่ลองเล่นมาก็พบว่าใช้งานได้ราบรื่นพอควร มีอาการ Wi-Fi หลุดบ้างตามที่บ่นกันบนเว็บฝรั่ง แต่ไม่บ่อยนัก ไม่เกินวันละครั้ง (บางวันไม่เป็นเลย) และไม่ต้องทำอะไรมาก สักพักก็ต่อกลับได้เองโดยผู้ใช้ไม่ต้องทำอะไร (ข้อมูลเพิ่มเติมจาก ifixit.com บอกว่าลักษณะของสายอากาศใน iPad จะทำให้รับสัญญาณ Wi-Fi ได้ไม่ดีเท่าที่ควร) ทั้งนี้จากการทดสอบกับ Wi-Fi router/access point ที่เป็น 802.11n สองรุ่นสองยี่ห้อแต่ในรัศมีไม่ไกลนัก ถือว่าเชื่อมต่อกับเน็ตได้ราบรื่นและรวดเร็วลื่นไหลมากทีเดียว แต่ทั้งนี้คงต้องขึ้นกับสภาพแวดล้อมแต่ละแห่งที่ต่างกัน เช่น ระยะห่างจากอุปกรณ์ สิ่งกีดขวาง สัญญาณรบกวน ฯลฯ

ส่วนเรื่องการเชื่อมต่อแบบใช้สายนั้น เป็นการ sync กับโปรแกรม iTunes ของ Apple บน Mac หรือ Windows ซึ่งต้องใช้ iTunes เวอร์ชั่น 9.1 ขึ้นไปถึงจะได้ และหากเสียบเข้ากับพอร์ต USB ของคอมฯแล้วก็จะไม่ชาร์จไฟ (คงกลัวจะโหลดเกิน เพราะ iPad แบตเตอรี่ใหญ่ กินไฟมาก) โดยขึ้นข้อความว่า Not Charging ที่มุมบนขวาข้างรูปแบตเตอรี่นั่นเอง จะชาร์จเมื่อเสียบกับอะแดปเตอร์ไฟบ้านเท่านั้น

6. อุปกรณ์อื่นๆ กล้อง คีย์บอร์ด

iPad ไม่มีกล้องมาให้ในตัวอย่าง iPhone ก็เลยยังไม่มีข้อมูล แต่ ifixit บอกว่าที่เคยมีข่าวลือเรื่องเว้นที่ไว้สำหรับกล้องไม่น่าจะจริง

อุปกรณ์อื่นๆ ก็ไม่มีให้ลอง ทั้งแฟ้มใส่ iPad แบบที่พับเป็นที่ตั้งพร้อมคีย์บอร์ดได้ (ดังรูปจาก Apple.com) ถ้ามีโอกาสได้มาหรือใครนำเข้ามาจะหามาลองให้ในโอกาสต่อๆไปครับ

อุปกรณ์อีกตัวที่มีคนรอกันมากคือชุดสำหรับต่อกล้องดิจิตอล (Camera Connection Kit) ที่ใช้ต่อเพื่อดึงข้อมูลรูปถ่ายจากการ์ด SD ของกล้องเข้าไปเก็บใน iPad อันนี้ตามข่าวน่าจะออกราวๆ ปลายเดือนเมษายนนี้

7. เรื่องน่าขัดใจของ Adobe Flash และยังไม่มีคีย์บอร์ดภาษาไทย

เรื่องน่ารำคาญสุดๆ อย่างหนึ่งของ iPad ที่รู้กันอยู่แล้วก็คือไม่รัน Flash ตอนจอเล็กแบบ iPhone ก็ไม่รู้สึกเท่าไหร่ แต่พอเป็นจอใหญ่แบบ iPad กลับรู้สึกมากขึ้น ยิ่งไปเจอบางเว็บ (ไทย) ใช้ Flash เป็นหน้าหลักโดยไม่มีทางเข้าอื่นไว้ให้เลยยิ่งขัดใจมาก ต้องอ้อมไปหาทางเข้าโดยใช้ Google ค้นหน้าย่อยในเว็บนั้นออกมาแทน สงสัยพอจอใหญ่ ความคาดหวังก็เลยใหญ่ตามไปด้วย

ที่ว่าข้างต้นนั้นคือ Flash Animation แต่สำหรับการดูวิดีโอจาก YouTube และเว็บอื่นๆ นั้น เริ่มมีการใช้มาตรฐานใหม่คือ HTML5 ในการ stream video กันบ้างแล้ว ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นก็จะสามารถดูวิดีโอได้โดยไม่ต้องเปิดใน app เฉพาะอีกต่อไป

อีกเรื่องที่ขัดใจสุดๆคือ iPad และ OS 3.2 ยังไม่รองรับคีย์บอร์ดภาษาไทย ไม่ว่าจะเป็นแบบที่ Apple ทำขึ้นใหม่ที่มีให้ใช้บน iPhone OS 3 หรือแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเกษมณี (ฟหกด) หรือปัตตะโชติก็ตาม ทั้งๆที่บน iPhone OS 3 ก็มีให้เลือกแล้ว ดูแล้วมีแต่ภาษาอื่นๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน แต่คิดอีกที มองโลกในแง่ดีว่าที่ยังไม่ออกมาก็อาจเพราะ Apple กำลังทำคีย์บอร์ดไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานอยู่ก็ได้ เพราะตอนนี้พื้นที่สำหรับวางแต่ละคีย์ของ soft keyboard บนหน้าจอก็มีมากพอ ไม่จำเป็นต้องบีบให้เหลือ 3 แถวอย่างแต่ก่อน (แต่ที่มีใช้บน iPad ตอนนี้ก็ยังอุตส่าห์บีบ 3 แถวอยู่ดี เฮ้อ) คงต้องรอ OS 4.0 ที่จะออกกลางปีนี้อีกทีว่าคีย์บอร์ดไทยคราวนี้จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

สำหรับการต่อคีย์บอร์ด Bluetooth ภายนอกนั้น จากการทดลองโดยใช้คีย์บอร์ดของเครื่อง iMac ก็สามารถจับคู่ (pair) กับ iPad ได้อย่างราบรื่น รวมไปถึงการกดคีย์ Command + Spacebar เพื่อสวิทช์ไปใช้ภาษาอื่นๆ ที่เลือกเปิดใช้งานบน OS 3.2 ด้วย (บนคีย์บอร์ดมีสกรีนภาษาไทย แต่ลองแล้ว iPad ไม่รับ พอกด Command + Spacebar แล้วเลือกภาษาอื่นที่ติดตั้งไว้กลับใช้ได้ปกติ) สรุปว่างานนี้ต้องรอ OS ใหม่อีกเช่นกัน (ถ้าไม่หมดความอดทนไปทำ jailbreak เสียก่อน)

[ติดตามอ่านต่อในตอนที่ 3 นะครับ]

รวมลิงค์วิดีโอที่เกี่ยวกับ e-book

รวมลิงค์วิดีโอที่เกี่ยวกับ e-book ครับ ลองดูกันเล่นๆ

อันนี้เป็น mock up หรือหนังตัวอย่าง (แต่ยังไม่ใช่ของจริง) ของสำนักพิมพ์ Editis ทำมาให้ดูพอเป็นไอเดียว่าโลกและชีวิตจะเปลี่ยนไปยังไงบ้างถ้าเรามี E-book ใช้กันแพร่หลาย

Read more

E-book จริงหรือที่ว่ามันคืออนาคตของการอ่าน ?

หมายเหตุ: บทความนี้จะเป็นการสรุปเนื้อหาที่ผมเตรียมไปพูดแบบ #ignite ในงาน Ignite Bangkok (www.ignitebangkok.com) ในวันที่ 3-4 มีนาคมที่จะถึงนี้ที่ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC – เอ็มโพเรียม สุขุมวิท) ห้อง Auditorium ดังนั้นจึงจะมีการอัพเดทเป็นระยะจนกว่าจะเขียนเสร็จ (ซึ่งก็คงใกล้วันงานพอดี) สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักการพูดแบบ ignite ก็เข้าไปดูที่เว็บดังกล่าวได้ สรุปสั้นๆก็คือให้พูดเรื่องอะไรก็ได้ แต่มีเวลาแค่ 5 นาทีและ 20 สไลด์ โดยสไลด์จะเปลี่ยนเองทุกๆ 15 วินาที? เนื้อหาจึงต้องกระชับ ไม่เยิ่นเย้อ ตามสโลแกนที่ว่า “enlighten us, but make it quick”

สำหรับวิดีโอที่ไปพูด ดูได้ที่นี่ครับ (5 นาที)

[vodpod id=Video.3219271&w=480&h=270&fv=]

Amazon's Kindle DX

Amazon's Kindle DX

เนื้อหาโดยย่อ: ถึงตอนนี้ใครๆก็เริ่มตื่นเต้นกับเครื่องอ่าน e-book ในสารพัดรูปแบบที่กำลังจะออกมาให้ใช้กัน ไม่ว่าจะเป็น iPad, Kindle, Nook, G-Tablet หรืออื่นๆ แต่อนาคตของ e-book จะเป็นอย่างไร และมันจะทำให้เราเลิกอ่านหนังสือบนกระดาษกันได้จริงๆหรือ ประเด็นสำคัญอยู่ตรงไหนกันแน่ ในฐานะของคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างหนังสือกับเทคโนโลยี คือเป็นทั้งคนทำหนังสือด้าน IT และอยู่ในแวดวงหนังสือมานับสิบปี ขอรวบรวมข้อมูลและข้อคิดเห็นล่าสุดจากหลายมุมมองมาเล่าสู่กันฟัง

16 เรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับ E-book

1. E-book เริ่มมีมานานแล้วบน PC/Mac ?แต่เพิ่งจะเริ่มได้รับความสนใจมากเมื่อเร็วๆนี้

ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะแต่เดิม E-book เป็นแบบที่ต่างคนต่างทำ มีหลากรูปแบบ หลายมาตรฐาน บางรายทำแบบ proprietary กันมานาน แต่ละคนมี tool ของตัวเอง บางคนก็ใช้ไฟล์แบบ PDF เพื่อให้เปิดได้ทุกที่ บางคนก็ทำโดยใช้โปรแกรมอย่าง Adobe Flash เพื่อเน้น effect ทางด้าน multimedia ผสมกับวิดีโอ แต่ที่เหมือนกันคือส่วนมากจะทำให้อ่านบนเครื่องคอมพิวเตอร์ จนกระทั่งเมื่อเร็วๆนี้ที่มือถือแบบ Smartphone ซึ่งมีจอขนาดใหญ่ได้รับความนิยมแพร่หลาย จึงมีคนทำทั้งโปรแกรมอ่านและตัวหนังสือ E-book เองให้อ่านได้บนมือถือเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น เครื่องอ่าน E-book ของ Amazon ที่เรียกว่า Kindle มีโปรแกรมที่ทำให้อ่านไฟล์แบบเดียวกันได้บน Smartphone หลายๆ ค่าย

2. ในปีนี้ (2010) จะมีผู้ผลิตเครื่อง E-book reader ออกมามากมายในรูปแบบของ Tablet computer

ทั้งนี้เพราะเทคโนโลยีต่างๆ เริ่มจะเข้าที่และดีพอที่จะทำเครื่องออกมา และแต่ละรายก็พยายามหาจุดขายที่เป็นได้มากกว่าเครื่องอ่าน E-book เฉยๆ กลายเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนตัวในรูปแบบใหม่ ที่ฮือฮาที่สุดก็คงไม่พ้น Apple ที่เปิดตัว iPad ก่อนใคร (อ่านเรื่อง ?iPad: ฤาจะเป็นแพลทฟอร์มนี้ที่เปลี่ยนโลก? ได้ใน D+Plus ฉบับที่แล้ว) และตามมาติดๆด้วย G-Tablet (ชื่อยังไม่เป็นทางการ) ของ Google ที่น่าจะใช้ระบบปฏิบัติการกึ่งบราวเซอร์อย่าง Chrome (ของกูเกิ้ลเอง ซึ่งมีหน้าตาแบบเดียวกับบราวเซอร์ Chrome ที่กูเกิ้ลแจกฟรีให้ใช้กันอยู่) ออกมาด้วย ทั้งหมดนี้ทำเอาค่ายที่ขายหนังสือและ E-book reader เป็นหลักอยู่อย่าง Amazon ที่ขาย Kindle ต้องปรับตัวขนานใหญ่ หรือแม้แต่ Barnes and Noble เชนร้านหนังสือใหญ่ของอเมริกา ต้องเปิดตัวเครื่องอ่าน E-book ของตนในชื่อ Nook ออกมาสู้ ส่วนอีกทางหนึ่งบรรดาผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ทั้งหลายเช่น Acer, HP, Dell ก็ต้องออก Tablet computer โดยใช้ระบบปฏิบัติการทชั้หลากหลาย มีทั้ง Chrome ของ Google หรือ Windows 7 ของไมโครซอฟท์มาเอี่ยวด้วย ทั้งหมดนี้มากพอจะทำให้ตลาดอุปกรณ์สายพันธ์ใหม่นี้เดือดได้ทีเดียว

Read more

iPad : ฤาจะเป็นแพลทฟอร์มนี้ที่เปลี่ยนโลก ?

หมายเหตุ:

  1. บท ความนี้ตีพิมพ์ลงคอลัมน์ Plus Tag ในวารสาร D+Plus ปีที่ 14 ฉบับที่ 79 กุมภาพันธ์ 2553 หน้า 10-13 ซึ่งจะดูทั้งเล่มในแบบ PDF ได้ที่นี่
  2. บทความนี้เขียนขึ้นก่อนการเปิดตัว GTablet ของ Google

D+Plus ปีที่ 14 ฉบับที่ 79

มเชื่อว่าใครๆ ก็คงเห็นข่าวการเปิดตัวคอมพิวเตอร์แบบ tablet ในชื่อ iPad ของแอปเปิลเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นข่าวฮือฮากันไปทั่วโลก ซึ่งปฏิกิริยาของผู้คนทั่วไปต่อข่าวนี้ก็หลากหลาย บ้างก็ตื่นเต้นรอคอย บ้างก็ผิดหวัง บ้างก็สงวนท่าที และสำหรับใครที่ยังไม่ได้อ่านรายละเอียด ขอเก็บมาสรุปสั้นๆ และเล่าขยายอีกทีดังนี้ครับ

iPad : คอมพิวเตอร์รูปลักษณ์ใหม่จาก Apple

iPad : คอมพิวเตอร์รูปลักษณ์ใหม่จาก Apple (ภาพจาก www.apple.com)

iPad เป็นคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในรูป ?Tablet? ที่จะเรียกว่า ?สมุดบันทึก? หรือ ?แผ่นกระดาน? ก็ได้ มีขนาดประมาณ 19 x 24 นิ้ว คือกว้างและยาวกว่าวารสาร D+ Plus ฉบับที่คุณถืออยู่นี้ออกไปอีกข้างละประมาณ 2 เซนติเมตร หนาประมาณครึ่งนิ้วหรือ 1.3 เซนติเมตร หนักประมาณ 7- 8 ขีด แล้วแต่รุ่น เรียกว่าเบากว่าโน้ตบุ๊คขนาดเล็กหรือเน็ตบุ๊คอยู่ประมาณ 20 -30% โดยที่ทั้งเครื่องมีแค่จอภาพแบนๆ ชิ้นเดียว ไม่มีคีย์บอร์ดจริงติดมาด้วย โดยมีคีย์แบบสัมผัสให้บนจอ เช่นเดียวกับ iPhone (แต่สามารถใช้คีย์บอร์ดจริงแบบ Bluetooth เชื่อมต่อเข้ามาได้) หน้าจอสีขนาด 9.7 นิ้ว ความละเอียด 1024 x 768 จุด เป็นระบบสัมผัสแบบ capacitive แบบเดียวกับ iPhone คุณจึงสามารถใช้นิ้วมือลากเพื่อสั่งการได้เหมือนกัน ใช้ซีพียูที่เรียกว่า A4 ความเร็ว 1 GHz ซึ่งทางแอปเปิลผลิตเอง แต่ที่จริงก็คือซื้อลิขสิทธิ์ซีพียู Cortex-A9 จากบริษัท ARM ผู้นำเทคโนโลยีซีพียูประหยัดพลังงานในอุปกรณ์พกพาทั้งหลายมาพัฒนาต่อให้เป็นของ iPad โดยเฉพาะ ซึ่งก็คล้ายกับซีพียูที่ออกแบบโดย ARM เช่นกันซึ่งใช้ใน iPhone (ความเร็วอยู่ที่ 400 ? 600 MHz) และผลิตโดย Samsung ดังนั้น iPad จึงสามารถใช้ iPhone OS 3.2 และโปรแกรมต่างๆ ได้เหมือนกัน แบตเตอรี่ใช้งานได้ 10 ชั่วโมง และปิดไว้ได้โดยไม่ต้องชาร์จถึง 14 วัน (คาดกันว่าซีพียูตัวนี้อาจจะใช้ใน iPhone รุ่นถัดไปด้วย)

Read more